วันอังคารที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ภาพกิจกรรมการเรียนการสอน /อภิปรายผลและสรุปผลการวิจัย

ภาพกิจกรรมการเรียนการสอน


อุปกรณ์เกม ตักไข่ ใบ้คำและสถานการณ์จำลอง






ภาพประกอบการเล่นเกมและสถานการณ์จำลอง














อภิปรายผลและสรุปผลการวิจัย
ผลการวิจัยการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่อง การใช้ถ้อยคำภาษาในการสื่อสารทั้งวัจนภาษาและอวัจนภาษา  วิชาภาษาไทยพื้นฐาน ของนักเรียนประกาศนียบัตรวิชาชีพ ชั้นปีที่  1  วิทยาลัยเทคโนโลยีการจัดการเพชรเกษม และวิทยาลัยอาชีวศึกษาคิงส์ตัน พัทยาที่จัดการเรียนการสอนโดยการใช้และไม่ใช้เกม  ตักไข่ใบ้คำ และสถานการณ์จำลอง ดังนั้นผู้วิจัยจึงขออภิปรายผลตามลำดับดังนี้
1. จากผู้เรียนกลุ่มทดลองทั้ง 2 วิทยาลัยมีคะแนนความรู้เฉลี่ยจากการทดสอบหลังเรียนสูงกว่าคะแนนความรู้เฉลี่ยจากการทดสอบก่อนเรียน ทั้งนี้เป็นเพราะการเรียนรู้โดยใช้เกมและสถานการณ์จำลองทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองจากประสบการณ์เดิม และเข้าใจเนื้อหามากขึ้น อีกทั้งยังทำให้ผู้เรียนมีความสนุกสนานในการเล่นเกมและแสดงถึงความสามารถของนักเรียนโดยนักเรียนเป็นผู้ดำเนินการเล่นเอง ทำให้ได้ประสบการณ์ตรงเป็นวิธีที่เปิดโอกาสให้นักเรียนมีร่วม ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง (Constructivism)ที่กล่าวว่าผู้เรียนเป็นผู้แสดงความรู้ได้ด้วยตนเอง และสามารถสร้างความรู้ด้วยตนเองได้ ผู้เรียนจะเป็นผู้ออกไปสังเกตสิ่งที่ตนอยากรู้ มาร่วมกันอภิปราย สรุปผลการค้นพบ แล้วนำไปศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมจากเอกสารวิชาการ หรือแหล่งความรู้ที่หาได้ เพื่อตรวจความรู้ที่ได้มา และเพิ่มเติมเป็นองค์ความรู้ที่สมบูรณ์ต่อไป และทฤษฎีพหุปัญญา (Theory of Multiple Intelligences) กล่าวว่าปัญญาด้านภาษา (Linguistic Intelligence) คือ ความสามารถในการใช้ภาษารูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ภาษาพื้นเมือง จนถึงภาษาอื่นๆ ด้วย สามารถรับรู้ เข้าใจภาษา และสามารถสื่อภาษาให้ผู้อื่นเข้าใจได้ตามที่ต้องการ ผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น ก็มักเป็น กวี นักเขียน นักพูด นักหนังสือพิมพ์ ครู ทนายความ หรือนักการเมือง ทิศนา แขมมณี (2554 : 90-95)
2. ผลการวิจัยครั้งนี้สอดคล้องกับงานวิจัยของ บุษรีย์ ฤกษ์เมือง (2552) การใช้เกมคำศัพท์ภาษาอังกฤษเพื่อพัฒนาการเรียนรู้คำศัพท์ภาษาอังกฤษสำหรับ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบุรารักษ์ ผลการศึกษาพบว่า 1) นักเรียนที่เรียนโดยใช้เกมคำศัพท์ประกอบการเรียนการสอนมีคะแนนเฉลี่ยทักษะคำศัพท์ ภาษาอังกฤษสูงกว่าร้อยละ 70  2) นักเรียนมีความรู้สึกชอบในกิจกรรมเกมคำศัพท์ที่ใช้ประกอบการสอนในระดับชอบมากทุกเกม และสอดคล้องกับงานวิจัยของ สุภาวดี เริงชัยภูมิ (2555) ได้ทำการวิจัยเรื่องการพัฒนาชุดกิจกรรมเกมฝึกการเขียนสะกดคำสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ผลการวิจัยพบว่า 1) ชุดกิจกรรมเกมฝึกการเขียน สะกดคำสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 มีความเหมาะสมในระดับมาก และมีประสิทธิภาพ 80.51/80.17  2) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่2 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้านการเขียนสะกดคำภาษาไทยหลังเรียนสูงกว่า ก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
       3. ความพึงพอใจของผู้เรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้เรื่องการใช้ถ้อยคำภาษาในการสื่อสารทั้งวัจนภาษาและอวัจนภาษา  วิชาภาษาไทยพื้นฐาน ของนักเรียนประกาศนียบัตรวิชาชีพ ชั้นปีที่  1  วิทยาลัยเทคโนโลยีการจัดการเพชรเกษม และวิทยาลัยอาชีวศึกษาคิงส์ตัน พัทยาที่จัดการเรียนการสอนโดยการใช้และไม่ใช้เกม  ตักไข่ใบ้คำ และสถานการณ์จำลอง ทั้ง 2 วิทยาลัยอยู่ในระดับมาก และมากที่สุด ซึ่งจากข้อมูลการประเมินผลแบบสอบถามความพึงพอใจแสดงให้เห็นว่า นักเรียนได้รับความรู้และความสนุกสนานกับการเล่นเกม มีเจตคติที่ดีต่อวิชาภาษาไทยพื้นฐาน สามารถทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม และสามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้


ปัญหาในการใช้เกมตักไข่ใบ้คำ และสถานการณ์จำลองในการสอนภาษาไทย

วิชาภาษาไทยมีบทบาทสำคัญสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาทักษะการฟัง การพูด การอ่าน และ       การเขียน ทำให้มนุษย์มีความคิดสร้างสรรค์คิดอย่างมีเหตุผล เป็นระบบ  มีแบบแผน สามารถวิเคราะห์ปัญหาหรือสถานการณ์ได้อย่างถี่ถ้วนรอบคอบช่วยในการคาดการณ์ วางแผน  ตัดสินใจ แก้ปัญหาและนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ภาษาไทยยังเป็นประโยชน์ต่อการเนินชีวิตให้ดีขึ้นและสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข การเรียนการสอนเรื่องการใช้ถ้อยคำภาษาในการสื่อสารทั้งวัจนภาษาและอวัจนภาษา ในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาภาษาไทย เป็นสาระการเรียนรู้หนึ่งที่ช่วยให้นักเรียนได้อย่างมีเหตุผล มีระเบียบ มีขั้นตอนในการคิดเชื่อมโยงจากสิ่งที่รู้ไปยังสิ่งที่เป็นปัญหา  (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกระทรวงศึกษาธิการ 2551 : 1 ) ดังนั้นครูผู้สอนวิชาภาษาไทยจึงควรให้ความสำคัญ   ในการเรียนการสอน และพยายามให้ความช่วยเหลือนักเรียนจนสามารถค้นหาวิธีในการหาคำตอบทางวิชาภาษาไทยได้ด้วยตนเอง วิชาภาษาไทยยังช่วยพัฒนามนุษย์ให้สมบูรณ์ มีความสมดุลทางร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา  อารมณ์ และสังคม สามารถคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น และอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมอย่างมีความสุข
             จากการที่ผู้วิจัยได้รับมอบหมายในการสอนวิชาภาษาไทยพื้นฐาน ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นปี่ที่ 1 ของวิทยาลัยเทคโนโลยีการจัดการเพชรเกษม และวิทยาลัยอาชีวศึกษาคิงส์ตัน เรื่องการใช้ถ้อยคำภาษาในการสื่อสารทั้งวัจนภาษาและอวัจนภาษา พบว่านักเรียนประสบปัญหาการใช้ถ้อยคำภาษาในการสื่อสารทั้งวัจนภาษาและอวัจนภาษาไม่ถูกต้อง และไม่เหมาะสม อันแสดงออกทั้งทางวาจาและท่าทางทำให้ผู้อื่นเข้าใจคลาดเคลื่อนในการสื่อสาร ทั้งส่งผลให้นักเรียนมีพฤติกรรมไม่ใส่ใจในการเรียนไม่ตระหนักถึงความสำคัญในศึกษาเท่าที่ควร เช่น การแสดงออกทางสีหน้าท่าทางในการสนทนากับครูผู้สอน และบุคคลอื่น ๆ เป็นต้น
           ดังนั้นครูซึ่งเป็นผู้วิจัยจึงจำเป็นต้องทำการวิจัยการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่อง การใช้ถ้อยคำภาษาในการสื่อสารทั้งวัจนภาษาและอวัจนภาษา  วิชาภาษาไทยพื้นฐาน ของนักเรียนประกาศนียบัตรวิชาชีพ ชั้นปีที่  1  วิทยาลัยเทคโนเพชรเกษม วิทยาลัยอาชีวศึกษาคิงส์ตัน พัทยา ที่จัดการเรียนการสอนโดยการใช้และไม่ใช้เกม  ตักไข่ใบ้คำ และสถานการณ์จำลอง โดยการพัฒนาเกม  ตักไข่ใบ้คำ และสถานการณ์จำลอง สถานการณ์จำลองที่ 1 การเข้ารับการอบรมธรรมะ ณ วัดแห่งหนึ่ง สถานการณ์จำลองที่ 2 งานมงคล (งานมงคลสมรส) และสถานการณ์จำลองที่ 3 งานอวมงคล (งานศพ)  เป็นเกมที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้เล่น มีความพร้อมที่จะเรียนด้วยความสนุกสนานจดจำเนื้อหาได้อย่างแม่นยำ เกมจะต้องครอบคลุมจุดประสงค์ได้หลายประการ เพื่อให้ผู้เล่นสามารถบรรลุเป้าหมายอย่างหนึ่งอย่างใดในคราวเดียวกัน เพื่อเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ในวิชาภาษาไทยพื้นฐาน  รวมถึงการสร้างสถานการณ์ขึ้นมาให้ใกล้เคียงกับสภาพความเป็นจริง ที่ผู้เรียน อาจประสบในภายหลังการเรียนด้วยสถานการณ์จำลองนี้ จะช่วยให้เกิดการถ่ายโยงความรู้ที่ดีและได้ผลมากที่สุด ผู้เรียนจะได้คิดแก้ปัญหาจากสถานการณ์จำลองทำให้เกิดการเรียนรู้ และสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริง (สุจริต เพียรชอบ 2531: 251)  เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจในการเรียน วิชาภาษาไทยพื้นฐาน ของนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรชั้นปีที่ 1 ตามวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

วัตถุประสงค์ของการวิจัย               
1) เพื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยคะแนนก่อนเรียนและหลังวิชาภาษาไทยพื้นฐาน เรื่องการใช้ถ้อยคำภาษาในการสื่อสารทั้งวัจนภาษาและอวัจนภาษา ของนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นปีที่ 1โดยการใช้และไม่ใช้เกม “ตักไข่ใบ้คำ” และสถานการณ์จำลอง   
                2) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของผู้เรียนในวิชาภาษาไทยพื้นฐาน เรื่องการใช้ถ้อยคำภาษาในการสื่อสารทั้งวัจนภาษาและอวัจนภาษา ของนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นปีที่ 1โดยการใช้และไม่ใช้เกม “ตักไข่ใบ้คำ” และสถานการณ์จำลอง

การใช้เกมตักไข่ใบ้คำ และสถานการณ์จำลองในการสอนภาษาไทย

การใช้เกมตักไข่ใบ้คำ และสถานการณ์จำลองในการสอนภาษาไทย เรื่อง การใช้ถ้อยคำภาษาในการสื่อสาร ที่แสดงออกทางวัจนภาษาและอวัจนภาษา
1. เกมตักไข่ใบ้คำ             
วัตถุประสงค์การเรียนรู้
                เมื่อผู้เรียนเรียนวิชาภาษาไทยพื้นฐาน เรื่อง การใช้ถ้อยคำภาษาในการสื่อสาร ที่แสดงออกทางวัจนภาษาและอวัจนภาษา จบแล้วผู้เรียนสามารถ:
                         1. เลือกใช้ถ้อยคำภาษาในการสื่อสารได้อย่างถูกต้อง
                         2. บอกอวัจนภาษาให้เป็นวัจนภาษาได้
                         3. บอกถึงการใช้วัจนภาษา และอวัจนภาษาให้อย่างเหมาะสมในชีวิตประจำวันได้
                วัตถุประสงค์ของเกม
                         1. เพื่อให้ผู้เล่นเกิดความสนุกสนานในการเรียนเรื่อง การใช้ถ้อยคำภาษาในการสื่อสาร ที่แสดงออกทางวัจนภาษาและอวัจนภาษา
                         2. เพื่อให้ผู้เล่นรู้จักเคารพกติกา
                         3. เพื่อให้ผู้เล่นทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม รับฟังและยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น
                ประโยชน์ที่ได้รับ
                         1. ผู้เล่นได้รู้จักการเลือกใช้ถ้อยคำภาษาในการสื่อความหมาย ที่แสดงออกทางวัจนภาษาและอวัจนภาษา
                         2. ผู้เล่นได้ฝึกไหวพริบ ปฏิภาณ
                         3. ผู้เล่นได้ฝึกการทำงานเป็นกลุ่ม
                กลุ่มเป้าหมาย
                         1. นักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยเทคโนโลยีการจัดการเพชรเกษม      จ.กรุงเทพมหานคร
                         2. นักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยอาชีวศึกษาคิงส์ตันพัทยา  จ.ชลบุรี
                กลุ่มตัวอย่างที่จะศึกษาค้นคว้า
                         1. นักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยเทคโนโลยีการจัดการเพชรเกษม      จ.กรุงเทพมหานคร
                         2. นักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยอาชีวศึกษาคิงส์ตันพัทยา  จ.ชลบุรี
                อุปกรณ์
                         1. ไข่พลาสติกหลากสี
                         2. ภาชนะใส่ไข่พลาสติก
                         3. ป้ายชุดคำสำนวนภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน
                         4. ช้อนตักไข่
                         5. บอร์ดบันทึกคะแนน
                         6. ป้ายบอกสถานะกรรมการ ผู้สังเกตการณ์ และทีม
                         7. กล่องใส่ป้ายชุดคำ
                         8. นกหวีด
                         9. นาฬิกาจับเวลา
                         10. สลากสำหรับจัดลำดับทีมผู้เล่น และลำดับป้ายชุดคำ
                กติกาการเล่น
                         1. เวลาในการเล่นเกมทั้งหมด 20 นาที
                         2. เวลาในการใบ้คำ และทายคำภายในเวลา 2.30 นาที
                         3. ในขณะใบ้คำห้ามใช้เสียงโดยเด็ดขาด ถ้าใช้ให้ถือว่าคำนั้นเป็นโมฆะ
                         4. ในการเริ่มใบ้คำนั้นจะต้องรอสัญญาณนกหวีดจากเจ้าหน้าที่จับเวลาก่อน จึงเริ่มเล่น และหยุดใบ้คำถ้าได้ยินเสียงนกหวีดหมดเวลา
                         5. ป้ายชุดคำที่ได้ทายไปแล้ว กรรมการจะทำการแยกออกจากป้ายชุดคำที่เหลืออยู่ ก่อนที่จะเล่นต่อในรอบถัดไป (กรณีต้องการหาผู้ชนะ)
                         6. การนับคะแนน ถ้าทายคำได้ถูกต้อง 1 คำ จะได้รับคะแนน 1 คะแนน ถ้าทายไม่ได้ให้บอกว่าข้าม แล้วค่อยใบ้คำถัดไปจนกว่าจะหมดเวลา ถ้าทายไปถึงคำที่ 10 แล้ว แต่เวลายังเหลือสามารถกลับมาใบ้และทายคำที่ข้ามไปได้
                         7. ทีมที่ได้คะแนนสูงสุดจะเป็นผู้ชนะ
                บทบาทผู้เล่น
                         1. ผู้เล่นแต่ละทีมส่งตัวแทนในการตักไข่ป้ายชุดคำ
                         2. ผู้เล่นช่วยกันใบ้คำและทายคำนั้น ๆ
                บทบาทผู้สังเกตการณ์
                         1. ทำหน้าที่ดูว่ามีผู้เล่นทำถูกต้องตามกติกาและมีหน้าที่แจ้งกรรมการถ้าพบการผิดกติกา
                         2. สังเกตพฤติกรรมผู้เล่นพร้อมทั้งจดบันทึกพฤติกรรม
                         3. สรุปภาพรวมของการเล่นเกม
                บทบาทกรรมการ
                         1. กรรมการมีหน้าที่บอกคำสั่งเริ่มและหยุดการเล่น สามารถบอกใบ้ได้กรณีผู้ทายทายถูกคำใดคำหนึ่งในประโยค เฉลยป้ายชุดคำที่ผู้เล่นตอบไม่ได้ และบันทึกคะแนน
                         2. รวมคะแนนของแต่ละทีมเพื่อหาผู้ชนะ
                บทบาทเจ้าหน้าที่จับเวลา
                         1. มีหน้าที่จับเวลาในการเล่นเกม
                         2. มีหน้าที่เป่านกหวีดเริ่มเล่น และหยุดเล่น
                วิธีการเล่นเกม
                         1. ขออาสาสมัครเพื่อเป็นกรรมการ 5 คน  ผู้สังเกตการณ์ 2 คน และเจ้าหน้าที่จับเวลา 1 คน
                         2. แบ่งผู้เล่นออกเป็น 5 ทีม ทีมละ 6 คน โดยแต่ละทีมจะต้องแบ่งผู้เล่นเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายใบ้ และฝ่ายทาย
                         3. เริ่มต้นเล่นเกม ให้แต่ละทีมส่งตัวแทน ตักไข่ป้ายชุดคำจากภาชนะขึ้นมา 1 ฟอง แล้วยืนให้กรรมการเพื่อเปิดไข่ว่าจะได้เล่นป้ายชุดคำที่เท่าไหร่ ในแต่ละทีมแบ่งผู้เล่นเป็น 2 ฝ่าย ได้แก่ฝ่ายใบ้คำ 3 คน และฝ่ายทายคำ 3 คน โดยยืนห่างกัน 3 เมตร
                         4. กรรมการยื่นป้ายชุดคำให้ฝ่ายใบ้คำ เจ้าหน้าที่เป่านกหวีดเริ่มใบ้คำพร้อมจับเวลา
                         5. ฝ่ายใบ้คำเริ่มใบ้คำห้ามส่งเสียงให้ใช้แต่ท่าทางในการใบ้คำเท่านั้น ส่วนฝ่ายทายสามารถช่วยกันทายได้ แต่ถ้าทายคำใดคำหนึ่งไม่ได้สามารถบอก “ข้าม” ได้ เพื่อทำการใบ้คำต่อไป
                         6. ในกรณีที่เวลาเหลือก็สามารถย้อนกลับมาทายคำที่ข้ามได้ ทั้งนี้ป้ายชุดคำจะมีจำนวนคำอยู่ 10 คำ โดยกรรมการจะให้เวลา 2.30 นาที ให้แต่ละทีมเล่นพร้อมกัน ถ้าทายถูก 1 คำ นับเป็น 1 คะแนน
                         7. กรรมการจะแจ้งคะแนน และเฉลยคำทายที่ทายไม่ถูก สรุปคะแนน
                         8. ถ้ามีกลุ่มที่มีคะแนนเท่ากัน ให้กลุ่มที่ได้คะแนนเท่ากันทำการแข่งขันใหม่ โดยใช้ป้ายชุดคำทายใหม่ ที่เตรียมไว้ และเริ่มเล่นเหมือนรอบแรก
                         9. เมื่อได้ผู้ชนะแล้วทำการมอบของรางวัลให้กับกลุ่มที่ชนะ
                         10. สรุปการเล่นเกมทั้งผู้สังเกตการณ์ กรรมการ และผู้เล่น

                2. สถานการณ์จำลอง “การใช้ถ้อยคำภาษาในการสื่อสาร ที่แสดงออกทางวัจนภาษาและอวัจนภาษา
                วัตถุประสงค์
                         1. เพื่อให้ผู้เรียนได้ศึกษาบทสถานการณ์การใช้ถ้อยคำภาษาในการสื่อสาร ที่แสดงออกทาง      วัจนภาษาและอวัจนภาษา และถ่ายทอดให้เพื่อนร่วมชั้นโดยการแสดงตามบทบาทสถานการณ์จำลอง
                         2. เพื่อฝึกการกล้าแสดงออกในทางที่ถูกต้อง
                         3. เพื่อเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจากการแสดงตามบทบาทสถานการจำลองได้อย่างเหมาะ
                อุปกรณ์
                         1. ใบงานบทบาทสถานการณ์จำลองการใช้ถ้อยคำภาษาในการสื่อสาร ที่แสดงออกทางวัจนภาษาและอวัจนภาษา 3 สถานการณ์ (อบรมธรรมที่วัด, งานมงคลสมรส, งานศพ)
                         2. อุปกรณ์และเครื่องแต่งกายในการแสดงบทบาทสถานการณ์จำลอง 3 สถานการณ์
วิธีการเล่น
                         1. ขออาสาสมัครเพื่อเป็นกรรมการ 3 คนเพื่อค่อยช่วยเหลือและควบคุมการเล่น  ผู้สังเกตการณ์ 1 คนทำหน้าที่สังเกตพฤติกรรมของผู้ร่วมเล่นตามกลุ่มนั้น ๆ และเจ้าหน้าที่จับเวลา 1 คนเพื่อคอยให้เวลาในการดำเนินการเล่นบทบาทสถานการณ์จำลองนั้น ๆ
                         2. แบ่งนักเรียนออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 10 คน แล้วส่งตัวแทนกลุ่มมาจับสลากใบงานบทบาทสถานการณ์จำลอง
                         3. ให้แต่ละกลุ่มอ่านศึกษาบทบาทสถานการณ์จำลองจากใบงานระดมความคิด และแบ่งบทบาทการแสดงและถ่ายทอดการแสดงบทบาทแสดงให้เพื่อนร่วมกันดูสถานการณ์จำลอง การใช้ถ้อยคำภาษาใน การสื่อสาร ที่แสดงออกทั้งทางวัจนภาษาและอวัจนภาษา 3 สถานการณ์ ทำการแสดงพร้อมกันทั้ง 3 กลุ่ม ภายในเวลา 10 นาที
                         4. ให้แต่ละกลุ่มส่งตัวแทนออกมานำเสนอกลุ่มละ 2 – 3 นาที ว่าบทบาทสถานการณ์จำลองที่กลุ่มได้แสดงประกอบกไปด้วยการสื่อสารอะไรบ้าง อะไรคือการสื่อสารที่ดี และการสื่อสารที่ไม่ดี
                         5. ให้กรรมการออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทสถานการณ์จำลอง ผู้สังเกตการณ์สรุปภาพร่วมการดำเนินการเล่นบทบาทสถานการณ์จำลอง
                         6. ครูสรุปการเล่นเกม และบทบาทสถานการณ์จำลองว่ามีความสัมพันธ์อย่างไรกับการใช้ถ้อยคำภาษาในการสื่อสาร ที่แสดงออกทั้งทางวัจนภาษาและอวัจนภาษา
บทบาทสถานการณ์จำลองที่ 1 การเข้ารับการอบรมธรรมะ ณ วัดแห่งหนึ่ง
บทบาท
                - พระ : เทศนาเรื่อง ศีลห้าที่พุทธสาสนิกชนควรปฏิบัติ
                - นักเรียนกลุ่มตั้งใจ : ตั้งใจฟังพระเทศนาธรรม ไม่พูดคุยกัน ไม่ใช้เครื่องมือสื่อสาร
                - นักเรียนกลุ่มที่คุยกันและแต่งหน้าทำผม : ไม่ฟังพระท่านเทศนา คุยกันเสียงดังเรื่องความสวยความงาม นินทาชาวบ้านไปเรื่อย ๆ
                - นักเรียนกลุ่มที่ชอบใช้โทรศัพท์มือถือ : ไม่ฟังพระท่านเทศนา ก้มหน้าเล่น Line, Facebook และถ่ายรูปกับเพื่อน ๆ
                - นักเรียนกลุ่มที่แต่งตัวไม่ถูกกาลเทศะ : ใส่กระโปรงสั้น ผู้ชายเอาเสื้ออกนอกกางเกง
บทบาทสถานการณ์จำลองที่ 2 งานมงคล (งานมงคลสมรส)
บทบาท
                - พิธีกร : กำลังแจ้งกำลังพูดถึงเจ้าบ่าวเจ้าสาว และกำลังเชิญประธานกล่าวอวยพรคู่บ่าวสาว
                - ประธาน : กล่าวอวยพรคู่บ่าวสาว เชิญผู้ร่วมงานดื่มเครื่องดื่มฉลองมงคลสมรส
                - ผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าบ่าว : กล่าวอวยพรคู่บ่าวสาว
                - ผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาว : กล่าวอวยพรคู่บ่าวสาว
                - เจ้าบ่าวเจ้าสาว : กล่าวขอบคุณแขกผู้มีเกียรติ
                - แฟนเก่าเจ้าบ่าว : ตะโกนต่อว่าเจ้าบ่าวเจ่าสาวว่าไม่เหมาะกัน และยังสวมชุดดำมาร่วมงาน
บทบาทสถานการณ์จำลองที่ 3 งานอวมงคล (งานศพ)
บทบาท
                - เจ้าภาพ : ร้องไห้เสียใจกล่าวรำพึงรำพันถึงผู้เสียชีวิต
                - กลุ่มคนที่มาร่วมงานด้วยความจริงใจ : พุดปลอบใจเจ้าภาพ และแต่งกายมาเหมาะสมกับงาน
                - กลุ่มคนที่มาร่วมงานแบบไม่จริงใจ : แสดงต่อหน้าเจ้าภาพบอกเสียใจ แต่ลับหลังนินทาเจ้าภาพ
                - บุคคลที่แต่งกายมาไม่ถูกกาลเทศะ : ใส่ชุดสีสันฉูดฉาดทั้งแดง เขียว ลายดอกไม้ต่าง ๆ

                - กลุ่มที่มาร่วมงานเพื่อดื่มเหล้าในงานศพ : นั่งดื่มเหล้า แล้วคุยกันเสียงดังเอะอะ